๒๕๕๒/๐๔/๓๐

คิดนอกกรอบ : ตกงาน เงินไม่พอใช้ ทำยังไงดี?



รู้จัก "หนุ่มเมืองจันทร์" ไม๊ครับ? พี่เค้าเป็นนักเขียนประจำของ มติชนสุดสัปดาห์คอลัมน์ "ฟาสต์ฟู้ดธุรกิจ" ที่มักจะมีบทความชวนยิ้ม อ่านเพลิน อ่านแล้วอารมณ์ดี
และเค้ามัีกจะพูดผ่านคอลัมป์เรื่อง "การคิดนอกกรอบ" อยู่เสมอ

หนังสือมติชนสุดสัปดาห์ เป็นหนังสือในเครือมติชนที่ผมอุดหนุนอยู่เป็นประจำกว่าสิบปี จะมีเว้นวรรคไม่ซื้ออยู่บ้างเป็นบางครั้ง หลายสาเหตุ เช่น ตอนคุณวาณิช (จรุงกิจอนันต์) เลิกเขียนคอลัมน์ให้มติชนสุดฯ ผมก็เลิกอ่านไปพักนึงเพราะคำอธิบายของผู้บริหารไม่ชัดเจนว่าเป็นเพราะอะไร?


Reference and Thanks : http://info.matichon.co.th/weekly | http://www.matichonbook.com


การคิดนอกกรอบที่น่าสนใจก็มีอยู่หลายเรื่อง อาทิเช่น การเปลี่ยนมุมมองเพื่อหาทางแก้ไขปัญหาใหม่ เทคนิคการกระโดดสูง การประกวดแคมเปญของยาสีฟันเพื่อเพิ่มยอดขาย การแก้ไขปัญหาพื้นที่สำนักงานไม่เพียงพอกับจำนวนพนักงานของ บริษัทปูนซีเมนต์ไทย

มาไล่เรื่องกันดูนะครับ


ขอยกเรื่อง "การเปลี่ยนมุมมองปัญหาเพื่อหาทางแก้ไขปัญหาใหม่" เอาไว้ท้ายสุดนะครับ



มาเริ่มจากเรื่อง "เทคนิคการกระโดดสูง" กันก่อน

สมัยตะก่อนโน้น จะโดดสูงข้ามเส้นบอกระดับความสูงกันแบบคว่ำหน้า ลองนึกภาพตามไปนะครับ ไม่ว่าหญิงหรือชายจะมีอุปสรรคต่อการกระโดดสูง นั่นคือ หญิงจะมีอุปสรรคที่ท่อนบน ส่วนชายจะมีส่วนเกินท่อนล่าง(กลางตัว) เอ่อ.. อวัยวะอันที่ท่านคิดนั่นแหละ เป็นอุปสรรคต่อการกระโดดสูง

วิธีคิดนอกกรอบเดิมๆ ก็คือ เปลี่ยนเป็นท่า "หงายหลังกระโดดสูง" ซึ่งก็ได้รับความนิยมต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบันนี้



การแข่งขันกีฬาโอลิมปิกที่เม็กซิโก เมื่อปี 1968 นักกีฬากระโดดสูงข้ามบาร์ทุกคนกระโดดด้วยวิธีที่เรียกว่า Western Roll โดยวิ่งๆหันหน้าหาบาร์แล้วกระโดดข้าม ณ ตำแหน่งสูงสุดร่างของนักกีฬาจะขนานกับบาร์

มีนักกรีฑาคนหนึ่ง อาจด้วยความรู้ในศาสตร์การกรีฑาอันน้อยนิดของเขา เขากระโดดด้วยวิธีการหันหลังให้กับบาร์ และทำสถิติโลกในขณะนั้นด้วยความสูง 7 ฟุตกับอีก 4 นิ้วครึ่ง ชายคนนี้ชื่อ Dick Fosbury และวิธีการกระโดดนี้กลายเป็นที่รู้จักกันในนามว่า Fosbury flop และยังใช้กันมาจนถึงปัจจุบันนี้


Reference and Thanks : http://surat95.exteen.com/20070205/entry | http://en.wikipedia.org/wiki/Dick_Fosbury | http://en.wikipedia.org/wiki/Fosbury_Flop


เรื่องที่สอง "การประกวดแคมเปญของยาสีฟันเพื่อเพิ่มยอดขาย" มีบริษัทยาสีฟันแห่งหนึ่ง ให้พนักงานคิดแคมเปญเข้าประกวดชิงรางวัลที่สามารถนำไปกระตุ้นยอดขายได้ และแคมเปญที่ส่งเข้ามานั้นมีทุกรูปแบบ ตั้งแต่ออกแบบหลอดยาสีฟันให้สวยงาม ลดราคา แจกถ้วนจานช้อน แจกแปรงสีฟัน โหมโฆษณา สร้างเว็บ ฯลฯ

แคมเปญที่ยกตัวอย่างในข้างต้น ผมโม้เอง เพราะว่าไม่เคยเห็นเอกสารประกอบ เดาว่าน่าจะมีแคมเปญแบบทั่วๆ ไปแบบนี้แหละ


เมื่อประกาศผลการประกวดแคมเปญยอดเยี่ยม เป็นแคมเปญเล็กๆ ที่คิดนอกกรอบ แค่ "ขยายรูของหลอดยาสีฟันให้ใหญ่ขึ้น" นอกนั้นคงเดิม เมื่อรูใหญ่ยาสีฟันก็ออกเยอะ ก็จะขายได้เยอะขึ้น แถมยังต้นทุนต่ำแต่กำไรสูงโดนใจคณะกรรมการตัดสินเป็นอย่างยิ่ง



หมายเหตุ : ไม่สามารถค้นได้ว่า บริษัทยาสีฟันไหนที่จัดให้มีการประกวดแคมเปญของพนักงานแบบนี้ครับ ถ้าหากท่านผู้อ่านท่านใดทราบก็ช่วยกระซิบบอกกันด้วยนะครับ



เรื่องที่สาม "การแก้ไขปัญหาพื้นที่สำนักงานไม่เพียงพอกับจำนวนพนักงาน" สมัยหนึ่งเมื่อนานมาแล้วปูนใหญ่มีปัญหาสถานที่คับแคบ เนื่องจากพนักงานเยอะ เลยร้องขอผู้บริหารให้สร้างตึกใหม่ซึ่งจะต้องใช้งบประมาณอีกมาก

ผู้บริหารจึงให้แนวคิด (และนำไปปฎิบัติจริง) ว่า ควรคิดนอกกรอบเดิมที่เคยคิดกันมา ปัญหาสถานที่แออัด แค่เพียง "ลดขนาดโต๊ะทำงาน" ก็สามารถแก้ไขปัญหานี้ได้แล้ว ไม่จำเป็นต้องสร้างตึกใหม่



หมายเหตุ : ผู้บริหาร บริษัทปูนซีเมนต์ ที่กล่าวถึงนี้คือ ท่าน ชุมพล ณ ลำเลียง




เรื่องสุดท้าย "การคิดนอกกรอบ เพื่อเปลี่ยนวิธีมองปัญหาใหม่"

ปัญหาที่หนักอกหนักใจของหลายๆ คน นั้นมีสาระพัด หลายรูปแบบ แก้ได้เองมั่ง แก้ไม่ได้มั่ง และปกติเราจะใช้แนวทางแก้ไขปัญหาแบบเดิมๆ แบบสูตรสำเร็จที่บอกต่อกันมาหรือจากประสบการณ์

แต่การคิดแบบนอกกรอบนั้น ให้เปลี่ยนแนวความคิดซะใหม่ โดยให้คิดว่าปัญหานั้นเป็นเหมือน "วัตถุ" ให้ลองยืนมองหลายๆ ด้าน จะด้านซ้ายขวาหน้าหลังหรือบนล่าง ก็ตามสะดวก

ลองย้ายไปดูด้วยมุมมองของคนอื่นบ้างสิ

การมองปัญหาด้วยมุมมองที่เปลี่ยนไป จะทำให้เกิดความคิดใหม่ ทำให้มีทางเลือกใหม่ในการแก้ไขปัญหา ปัญหาที่ตัวเองมองว่ามันหนักซะจนโลกจะแตกตาย เช่น อกหัก เกรดน้อย สอบไม่ติด โดนไล่ออกจากงานประจำ พบว่าเป็นโรคร้ายแรงรักษาไม่หาย ฯลฯ ที่เรารู้สึกว่ามันหนักจะเป็นจะตายเสียให้ได้ ก็เพราะว่า เรามองด้วยมุมมองของเรา




ย้อนกลับมาใน Topic ของกระทู้ดีกว่า (อ้อมโลกมาซะนาน)

มาดูปัญหายอดฮิตในบ้านเมืองเราตอนนี้ ปัญหาด้านเศรษฐกิจที่เรากำลังเผชิญในปีนี้ (2552) กำลังถึงจุดที่เรียกว่า "วิกฤต" ผู้คนจะรู้สึกกันว่าได้รับความเดือดร้อนไปทุกหย่อมหญ้า หากคิดกันแบบเดิม รอให้รัฐบาลมาช่วยแก้ไขปัญหา หรือรอให้ปัญหามันคลี่คลายเมื่อถึงเวลา

แล้วก็มานั่งกลุ้มปวดหัวว่าตอนนี้ "ปัญหาที่กูเจอมันหนักเหลือเกิน"

คิดวนเวียนกันอยู่แบบนี้ด้วยความทุกข์ระทม เศร้าหมองหม่น บรรยากาศอึมครึม เครียดกันไปทั้งบ้านทั้งเมือง


แล้วทำไมถึงไม่มองปัญหานี้ในมุมอื่นบ้าง? ทำไมไม่เปลี่ยนมุมไปเป็นคนอื่น แล้วมองย้อนกลับมาดูตัวเราเอง?

ยกตัวอย่างเช่น

มองด้วยมุมมองของ "ขอทานอินเดีย" ผมเคยอ่านหนังสือเล่มไหนก็ไม่รู้จำไม่ได้ เค้าบอกว่า มีขอทานใน ประเทศอินเดีย เยอะมาก มียุบยับไปหมด มีรายได้เฉลี่ยอยู่แค่วันละ 10-20 บาทไทยเท่านั้น (ถ้าผมจำมาถูกนะ)



ถ้าหากเป็นเราคงตายด้วยความหิวโซไปตั้งแต่เดือนแรกแล้วมั๊ง? เผลอๆ จะอยู่ได้แค่อาทิตย์เดียวซะด้วยซ้ำ


ตานี้หากเราอยู่ในฐานะ "ขอทานอินเดีย" มองย้อนกลับมาดูตัวเราในวันนี้

อ่าว... สุขสบายถึงขนาดนี้แล้ว ยังมีความทุกข์อีกเรอะ? อีนี่ฉานเดินขอเงินทั้งวัน เหน็ดเหนื่อยสายตัวแทบขาด อีนี่ฉานได้แค่ยี่สิบบั๊ดเอง อีนี่ฉานไม่เคยซื้อเสื้อผ้ามาสองสามปีแล้วต้องใส่กลางวันกลางคืนถอดซัก อีนี่ฉานมีลูกแต่ไม่ได้เรียนหนังสือหรอกเพราะไม่มีเงินส่งเรียน อีนี่ฉานไม่มีเงินไม่มีบ้านไม่มีรถ ไม่มีอนาคต

แต่... อีนี่ฉานยังดีกว่าชาว เอธิโอเปีย นะ ที่นั่น น้ำยังไม่มีจะกินเลย!!





ขออนุญาตสรุปในตอนท้ายให้ท่านผู้อ่านเลยนะครับ

ถ้าหาก... ตกงาน เงินไม่พอใช้ (แล้วมีคนถามว่า) ทำยังไงดี? ให้ท่านตอบไปได้เลยว่า "คิดนอกกรอบ" สิครับ และถ้าหากใครที่คิดว่า "ปัญหา" มันหนักหนาสาหัสซะจนอยู่รอดไม่ได้เนี่ย เปลี่ยนความคิดซะใหม่ ย้ายเก้าอี้เปลี่ยนมุมมองซะใหม่

เพราะว่า ปัญหาที่เราเจอนั้น เมื่อเทียบปัญหากับชาวโลกคนอื่น มันจิ๊บๆ เล็กน้อยซะเหลือเกิน เค้ายังทนและอยู่รอดกันมาหลายร้อยปี ปัญหาที่พวกเค้าเจอกันแต่ละอย่างเนี่ย เราจะทนไหวได้ซักกี่วัน? ปัญหาของเราเมื่อเทียบกับเด็กเอธิโอเปียแล้วเป็นอย่างไร?



ทำไมเค้าถึงบอกกันว่า เศรษฐกิจพอเพียง จะนำพาให้ชาติหลุดพ้นจากวิกฤต? (ไม่ว่าจะครั้งนี้หรือครั้งไหนๆ ก็ตาม) ลองศึกษาดูสิครับ

หรือจะทำตามแบบผมก็ได้นะครับ แค่ "ยิ้มรับปัญหา" ดำเนินชีวิตแบบ "พอเพียง" และ "อดทน" แค่นี้เองครับ ชีวิตก็มีความสุขตามประสาคนเดินดินธรรมดาแล้ว

หมายเหตุ : นึกถึงประโยคของ แดง ไบเลย์ (จากหนังเรื่อง 2499 อันธพาลครองเมือง) ที่ว่า "เป็นเมียเรา ต้องอดทน" ถ้าหากเป็นยุคสมัย 2552 ยุคนี้ คงต้องบอกว่า "เป็นเมียเรา ต้องพอเพียง" แล้วล่ะครับ (ฮา)


Reference and Thanks : th.wikipedia.org/wiki/2499_อันธพาลครองเมือง | th.wikipedia.org/wiki/เศรษฐกิจพอเพียง | th.wikipedia.org/wiki/ประเทศเอธิโอเปีย | th.wikipedia.org/wiki/ประเทศอินเดีย

1 ความคิดเห็น:

Jub-Jib กล่าวว่า...

ขอบคุณมากน่ะค่ะ ^^