๒๕๕๒/๐๙/๑๔

ตำนานแห่งฝน



นิทานหรือตำนานพื้นบ้านสมัยตะก่อนโน้นที่มีเรื่องราวเกี่ยวกับฝน มีอยู่หลายเรื่องที่น่าสนใจ เช่น ตำนานบั้งไฟ ตำนานพระวิรุณ ตำนานเมขลา-รามสูร ตำนานรุ้งกินน้ำ ฯลฯ ใครที่ลืมเลือนไปแล้วว่าแต่ละตำนานเป็นอย่างไร มาอ่านทบทวนความหลังกันครับ

ตำนานบั้งไฟ

ตำนานบั้งไฟ เป็นเรื่องเกี่ยวกับความเชื่อเกี่ยวกับผีฟ้า "พญาแถน" ผู้มีหน้าที่บันดาลให้ฝนตกในโลกมนุษย์ ต่อมามีผู้มีบุญมาเกิดในโลกมนุษย์ ชื่อ "พระยาคันคาก" มีอิทธิฤทธิ์มากสามารถช่วยเหลือปัดเป่าทุกข์ภัยให้กับชาวบ้าน จนชาวบ้านลืมไหว้บูชาพญาแถนดั่งที่เคยปฏิบัติ

พญาแถนจึงโกรธและทำให้ฝนไม่ตก มนุษย์ทั้งหลายได้รับความเดือดร้อนมาก จึงได้ส่ง "พญานาค" และ "พญาต่อ-แตน" ไปรบแต่ก็พ่ายแพ้พญาแถนกลับมา จนในที่สุดพระคันคากจึงอาสาไปรบและได้ชัยชนะ พญาแถนจึงทำให้ฝนตกดังเดิม

ข้อมูลจาก : www.baanmaha.com




โดยพระยาคันคากจะจุดบั้งไฟเพื่อบอกให้พญาแถนทำให้ฝนตกในเวลาเดือน 6 เดือน 7 ของทุกปี และผู้คนจะแกว่งโหวดในเดือน 11-12 เพื่อให้ฝนหยุดตกเพราะเป็นเวลาเก็บเกี่ยว

ค้นไปค้นมา ก็ไปเจอแกงค์สามช่า (ชิงร้อยชิงร้าน) เรื่อง "ศึกพญาแถน" ใน youtube.com เลยเอามาฝากครับ

ตอนที่ 1 : http://www.youtube.com/watch?v=e0yFlH56VPI
ตอนที่ 2 : http://www.youtube.com/watch?v=dFQJIIMw2n4
ตอนที่ 3 : http://www.youtube.com/watch?v=P1MMLYJeSHU


ตำนานพระวิรุณ เทพแห่งสายฝน

เรื่องราวของ "พระวิรุณ" หรือ "พระพิรุณ" เทพเจ้าแห่งสายฝนของไทยเรานั้น ในทางพุทธศาสนาแล้ว เชื่อว่า พระพิรุณเทพนั้นอยู่บน "สวรรค์" ชั้นดาวดึงส์ ที่เป็นเทพแห่งสายฝน สภาพดินฟ้าอากาศ มีหน้าที่รับคำบัญชาจาก "พระอินทร์" อีกทอดหนึ่ง

และยังมีเทพรองลงไป เพื่อทำหน้าที่ต่าง ๆ เช่น เทพปรชันยะ (ผู้ประทานฝน) เทพปัชชุนนะ หรือ วัสสวลาหกเทพ (เทพแห่งเมฆฝน) สีตวลาหกเทพ (หนาวเย็น) อุณหวลาหกเทพ (ความร้อน) อัพภวลาหกเทพ (เมฆหมอก) วาตวลาหกเทพ (ลม) ซึ่งบรรดาเทพเหล่านี้ จะทำงานประสานกัน หรือผสมกลมกลืน เป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน เพื่อให้เกิดฝนฟ้าตกต้องตามฤดูกาล

เทพที่มีฐานะรองๆ ลงไปนี้ จะเป็นเสมือนตำแหน่งทางการเมืองหรือบรรดาศักดิ์ เพราะพระอานนท์ก็เคยเกิดมาเป็นปัชชุนนเทวบุตรมาแล้วครั้งหนึ่ง


เครื่องหมายของ "กระทรวงเกษตรและสหกรณ์" จะเป็นรูปพระพิรุณทรงนาค หรือแม้แต่ที่หน้า "มหาวิทยาลัยแม่โจ้" จังหวัดเชียงใหม่ ก็มีเทวรูปของพระพิรุณทรงนาค อยู่ด้านหน้าเช่นเดียวกัน เช่นกัน แต่พระพิรุณหาได้ทรงนาคไม่ การที่เอาพระพิรุณและนาค มาอยู่ด้วยกันเพราะทั้งสองเกี่ยวเนื่องกับ “ฝน” และความอุดมสมบูรณ์ของการเกษตร


ข้อมูลจาก : http://watlantong.igetweb.com


สัตว์พาหนะของพระพิรุณ ส่วนใหญ่จะเป็นจระเข้ บางแห่งว่าเป็นมังกร หรือบอกว่าเป็นหงส์ นั่นไม่สำคัญเท่ากับว่า พระพิรุณ เป็นเทพแห่งน้ำและฝน โดยเป็นผู้ควบคุมกระแสน้ำและยังให้แม่น้ำไหลหลั่งถั่งเติมลงสู่มหาสมุทร อีกทั้งยักเก็บกักน้ำในห้วงอากาศไว้ในก้อนเมฆ เพื่อเอาไว้ประพรมลงสู่สวรรค์ บรรยากาศ และโลกมนุษย์

เดิมนั้น พระพิรุณมีบทบาทมาก เพราะเกี่ยวกับปากท้องของผองชน แต่เมื่อมีชนเผ่าอื่นเข้ามาแทนที่ ก็ฐาปนาพระอินทร์ขึ้นเป็นใหญ่แทน พระพิรุณจึงลดอันดับ อยู่ใต้อาณัติของพระอินทร์ไปโดยปริยาย


ตำนานเมขลาและรามสูร

พระพิรุณนั้นมีธิดาองค์หนึ่ง มีนามว่า “นางเมขลา หรือ นางมณีเมขลา” ชื่อของนางจะดังควบคู่กับอสูรตนหนึ่งที่ชื่อว่า “รามสูร” เสมอ

"รามสูร" เป็นยักษ์ ถือ "ขวานเพชร" เป็นอาวุธ เป็นเพื่อนกับ "พระราหู"


เมื่อพระราหูไปดื่มน้ำอมฤตที่ "พระนารายณ์" ชักชวนไปกวน แล้วถูกพระนายรายณ์เอาจักรขว้าง ตัดร่างขาดครึ่งตัวแต่ไม่ตายเพราะดื่มน้ำทิพย์ รามสูรก็คิดจะขอพร "พระอินทร์" ให้พระราหูกลับมีร่างดังเดิม

บังเอิญนางเมขลาไปลัก "ดวงแก้วพระอินทร์" จึงจะจับนางไปถวายเพื่อได้ความชอบก่อน แต่เมขลาก็หลบหลีกโยนแก้วล่อหลอกรามสูร รามสูรจึงขว้างขวานเพชรไป แต่อำนาจดวงแก้ววิเศษคุ้มครองนางเมขลาไว้ ต่างวนเวียนไล่ล่อกันจนเกิดเป็นฟ้าแลบ เพราะแสงแก้วของเมขลา และมีเสียงฟ้าร้องเพราะรามสูรขว้างขวาน

ตำนานที่เกี่ยวข้องกับนางเมขลาและรามสูรอื่นๆ

"นางเมขลา" หรือ "นางมณีเมขลา" นั้นมีรูปโฉมงดงามและมีดวงแก้ววิเศษประจำตัว ซึ่งเมื่อ "รามสูร" พบเห็นก็พึงพอใจในดวงแก้วและความงามของเมขลา อยากได้มาครอบครอง จึงเที่ยววิ่งไล่จับนางเมื่อจับไม่ทันก็ใช้ขวานขว้าง แต่ไม่ถูก

เพราะเมขลาใช้แก้วล่อจนเป็นฟ้าแลบ แสงแก้วทำให้ตารามสูรมัวจึงขว้างขวานไม่ถูก


ใน "วรรณคดีเฉลิมไตรภพ" กล่าวถึงเมขลารามสูรนี้ ว่า มี "พระยามังกรการ" ตนหนึ่งอมแก้วไว้เสมอ จะไปไหนก็เอาดวงแก้วทูนศีรษะไว้



มังกรการได้แปลงเป็นเทวดาไปสมสู่กับนางฟ้ามีบุตรีชื่อ "เมขลา" เมื่อเจริญวัยขึ้นมีความงามยิ่ง มังกรการได้นำบุตรีและดวงแก้วไปมอบแก่ "พระอิศวร"

ครั้งหนึ่งเมขลาได้ขโมยดวงแก้ววิเศษนั้นไป "ราหู" ผู้มีครึ่งตัวเพราะถูกจักรพระนารายณ์ "สุทรรศนะ" เมื่อครั้งแปลงร่างเป็นเทวดาไปดื่มน้ำอมฤต ได้อาสาไปจับเมขลา และได้ชวน "รามสูร" ผู้เพื่อนไปด้วย รามสูรได้ขว้างขวานจนกลายเป็นฟ้าลั่น

พิธีกวนเกษียรสมุทรเพื่อทำน้ำอมฤต ก็น่าสนใจนะครับ เริ่มจากมหาฤาษีสาปให้พระอินทร์เสื่อมฤทธิ์และสาปให้สู้พ่ายแพ้(ยักษ์)ทุกครั้งไป จึงทำให้เหล่าเทวดาต้องหาทางแก้ไขด้วยการให้พระอินทร์ได้ดื่มน้ำอมฤต แม้จะพ่ายแพ้แต่ก็ไม่ตาย

อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่ครับ : ตำนานที่ 1 | ตำนานที่ 2 | ตำนานที่ 3 | ประติมากรรม “กวนเกษียรสมุทร” ที่อยู่ในสนามบินสุวรรณภูมิ


ใน "วรรณคดีรามเกียรติ์"



กล่าวถึงรามสูร (เพี้ยนมาจากปรศุราม) ว่าเป็นอสูรเทพบุตร มีขวานเพชร ในเทศกาลวสันต์ เทวดาและอัปสรเล่นจับระบำกัน รามสูรเข้าไปไขว่คว้า "นางอัปสร" และไล่ตามนางเมขลาไปพบ "พระอรชุน" ได้ท้ารบกัน รามสูรได้จับอรชุนสองขาฟาดเหลี่ยม "พระสุเมรุ" ตาย

นางเมขลาฝ่ายบาลีนั้นว่ามีหน้าที่รักษาน่านน้ำมหาสมุทร คอยช่วยเหลือผู้มีบุญที่ตกน้ำ เช่น ช่วย พระมหาชนก และ พระสมุทรโฆษ เมขลาของอินเดีย มีคำว่ามณีอยู่ด้วยรวมเป็น "มณีเมขลา" จึงรวมเป็นองค์เดียวกับเมขลาที่ถือแก้วในนิยายพื้นบ้านไทย


เรื่องฟ้าคะนองนี้มีอีกตำนานหนึ่งว่า เป็นเพราะรามสูร เมขลา และพระประชุน มาชุมนุมรื่นเริงกัน (พระประชุน คือ พระอินทร์ นั่นเอง ซึ่งในสมัยพระเวทที่มีหน้าที่ทำให้เกิดพายุฝน พระอินทร์ในหน้าที่นี้เรียกว่า ปรรชันยะ หรือ ปรรชัยนวาต ไทยเรียกเป็นพระประชุน) เมื่อมีการชุมนุมรื่นเริงกันของเทพแห่งฝน เมขลาผู้มีดวงแก้วและรามสูรผู้มีขวานจึงทำให้เกิดฟ้าแลบ ฟ้าร้อง ฟ้าผ่า

ข้อมูลจาก : http://watlantong.igetweb.com


ตำนานผีอี่ฮุง (รุ้งกินน้ำ) จากล้านนา



ยามใดที่มีฝนตกและดวงตะวันสาดแสงส่องอยู่ด้านตรงกันข้าม "ผีอี่ฮุง" จะลงมากินน้ำ บางครั้งซ้อนกันสองตัว บางทีซ้อนกันสามตัวแล้วแต่โอกาส ผีอี่ฮุงที่เปล่งแสงอันงดงามอยู่ตรงกันข้ามกับดวงตะวัน ทำให้ลำตัวยาวเกิดสีเจ็ดสีแสงสวยสด ยิ่งผืนสายฝนหนาเท่าใด ยิ่งทำให้สีลำตัวผีอี่ฮุงแจ่มชัด หากผืนสายฝนกว้างมากเท่าใดผีอี่ฮุงจะซ้อนกันสองตัว สามตัวพากันลงมากินน้ำ ตามทุ่งนาบ้าง ตามแม่น้ำบ้าง หรือตามผืนป่าบ้าง

ยิ่งมีผีอี่ฮุงลงมากินน้ำหลายตัว ผู้คนบางท้องถิ่นบอกกล่าวกันว่า ระวังน้ำจะท่วม ผู้คนที่อยู่ใกล้แม่น้ำลำห้วยต้องระวัง

ชาวล้านนาหลายแห่งเชื่อกันว่าเมื่อผีอี่ฮุงลงมากินน้ำจะทำให้น้ำท่า บริบูรณ์ แต่ผู้คนหลายๆหมู่บ้านก็ยังเชื่อกันอีกว่าห้ามชี้มือไปยังผีอี่ฮุงเพราะ เชื่อว่าจะทำให้นิ้วที่ชี้จะด้วนกุด


นอกจากบริเวณที่เกิดผีอี่ฮุงแล้ว สายฝนอาจไปตกตามท้องทุ่ง หรือตกในที่อื่นๆใกล้กับสถานที่ผีอี่ฮุงกินน้ำผู้คนทั่วไปบอกกันว่า "เยี่ยวผีอี่ฮุง" เป็นลักษณะสายฝนตกปรอยๆไม่ตกหนักหรือเป็นห่าเหมือนฝนทั่วๆไป ผู้ใหญ่มักเตือนเด็กๆว่า "อย่าไปตากฝนเยี่ยวผีอี่ฮุง มันจะเป็นไข้หวัด" บางครั้งผีอี่ฮุงบางตัวมีแต่หัวโค้งลงมาเพียงครึ่งวงกลม ลำตัวส่วนโค้งบนขาดหาย

ผู้คนเรียกกันว่า "ผีอี่ฮุงตั๋วกุ้ด" (ตัวด้วน) หากเกิดปรากฏการณ์อย่างนี้ผู้คนบางท้องถิ่นมีความเชื่อว่าระวังฝนจะห่าง (ฝนทิ้งช่วง) เรื่องผีอี่ฮุงเป็นความเชื่อเกี่ยวกับปรากฏการณ์ทางธรรมชาติของผู้คนล้านนาที่ผู้คนทั่วๆไปเรียกกันว่า "รุ้งกินน้ำ" นั่นเองครับ

ข้อมูลจาก : http://gotoknow.org



ส่งท้าย

นิทานพื้นบ้านหรือตำนานต่างๆ ที่คนโบราณเค้าแต่งเอาไว้ จะว่าไปแล้วก็อ่านได้สนุกสนานดีนะครับ แต่ละประเทศก็จะมีตำนานที่แตกต่างกันไป อ่านแล้วเพลิน

อ่อ.. ยังมีประโยชน์อีกอย่างหนึ่งคือ เอาไว้เล่า(โม้)ให้เด็กๆ ฟัง เด็กๆ จะนั่งฟังกันตาแป๋วแหววเลยละครับ ฮ่าๆ

ข้อมูลอื่นที่น่าสนใจ

- สวรรค์ในพระพุทธศาสนา | เทวดาในพระพุทธศาสนา | ทศชาติชาดก
- วรรณคดีรามเกียรติ์ | เทพเจ้ากรีก | เทพเจ้าแห่งไอยคุปต์
- เทพเจ้าฮินดู | รายชื่อเทพเจ้าของอินเดีย

ไม่มีความคิดเห็น: